EdTech Trends in 2023
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้วิธีการจัดการเรียนการสอนของพวกเราเปลี่ยนไป …
ในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมาบุคลากรทางการศึกษาเป็นจำนวนมากได้รับการพัฒนาทักษะให้มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้มากขึ้น คุณครูส่วนใหญ่เริ่มมีความคุ้นเคยการการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านการใช้ห้องประชุมแบบออนไลน์ การใช้ระบบ LMS เพื่อช่วยในการบริหารจัดการชั้นเรียน การใช้เครื่องมือสื่อสารและระบบโต้ตอบแบบอินเทอร์แอคทีฟเพื่อการทำกิจกรรมร่วมกับผู้เรียน และการใช้คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟนเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบดิจิทัล
[1] Hybrid / Blended Learning – การผสมผสานการเรียนรู้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์
ยุคหลังโควิด-19 ครูและผู้เรียนซึ่งมีประสบการณ์ในการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในอนาคตก็คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานซึ่งมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งแบบผสานเวลาและไม่ผสานเวลาโดยนำเทคโนโลยีและการสื่อสารข้อมูลมาใช้เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อลดข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะทางและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ครูเท่านั้นที่เห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ ผู้ปกครองมากกว่าร้อยละ 80 ยังมีความเห็นว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในโรงเรียนนั้น มีความสำคัญและสามารถช่วยให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตอีกด้วย

การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานทำให้เกิดรูปแบบของจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ ได้อย่างมากมาย รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สัมผัสและคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการคิดเชิงนวัตกรรมของพวกเขาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน ครูจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีในการออกแบบกิจกรรม การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ และการเลือกเครื่องมือต่างๆ เพื่อนำมาผสานกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้เพื่อการจัดเก็บร่องรอยในการเรียนรู้และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย
[2] Personalized Learning – การพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์
ยุคหลังโควิด-19 เทคโนโลยีอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้มากขึ้นในฐานะของผู้ช่วยครูในการจัดการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถดูแลผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง และสามารถจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับธรรมชาติและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการวิเคราะห์และวางแผนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน การใช้ AI ในการคัดเลือกเนื้อหาหรือแบบทดสอบตามความสามารถของผู้เรียน หรือแม้แต่การใช้ AI เป็น Chat Bot เพื่อการโต้ตอบและการให้คำแนะนำกับผู้เรียนในระหว่างการเรียนรู้เนื้อหาในบทเรียน เป็นต้น

จากรูปจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า AI สามารถช่วยให้กิจกรรมการเรียนรู้และโปรแกรมการพัฒนาผู้เรียนนั้นถูกจัดสรรในแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล ซึ่งจะลดข้อด้อยของระบบการศึกษาแบบ One Size Fits All ได้เป็นอย่างดี และในอนาคต AI ยังอาจเข้ามามีบทบาทในการวัดและการประเมินผลผู้เรียนมากขึ้น ด้วยความสามารถในการประมวลผลแบบออนไลน์และการแสดงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลการเรียนของผู้เรียนทั้งในรูปแบบการวิเคราะห์แบบกลุ่มและแบบเดี่ยวในแต่ละหัวข้อบทเรียน และยังช่วยลดปัญหาความลำเอียงและความไม่คงเส้นคงวาหรือความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผู้ประเมินที่เป็นมนุษย์ ดังนั้น ในฐานะของผู้สอน ครูจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนำ AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อการปรับแต่งการกระบวนการจัดการเรียนรู้และการปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนให้ดีขึ้นตามศักยภาพของผู้เรียนแต่ละบุคคล
[3] Immersive Technology – การสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วยประสบการณ์เสมือนจริง
Immersive Technology หมายถึง เทคโนโลยีที่สร้างความกลมกลืมระหว่างโลกในความจริง (Physical world) กับโลกจำลองแบบดิจิทัล (Digital world, Simulated world) ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกจมดิ่ง (immersion) ลงไปในโลกเสมือนนั้นจนคล้ายกับอยู่ในโลกความเป็นจริง ในปัจจุบัน Immersive Technology อย่างเช่น เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual reality: VR) เทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented reality: AR) และเทคโนโลยีความจริงผสม (Mixed หรือ Merged reality: MR) ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างคอนเทนต์เสมือนที่มีความน่าตื่นเต้นและสมจริงมากยิ่งขึ้น โดยสร้างการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และโลกจำลองแบบดิจิทัลผ่านอุปกรณ์แบบสวมใส่เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

รายงานของ Market Research Future เผยว่า ในปี 2023 การเรียนรู้ผ่าน AR และ VR จะยังคงเติบโตมากขึ้นในทุกช่วงวัยการศึกษา และมีการคาดการณ์การเติบโตต่อปีอยู่ที่ 18.2% ดังนั้น ในฐานะของผู้สอนในยุคดิจิทัล ครูควรเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อการสร้างโอกาสและลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ สื่อจำลอง และการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่สมจริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการมีปฏิสัมพันธ์และดื่มด่ำกับการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ที่มากขึ้น และก้าวไปสู่การจัดการศึกษาด้วยประสบการณ์เสมือนจริงในยุคของ The Internet of Senses (IoS) ซึ่งโลกเสมือนจริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การมองเห็นและได้ยินเสียงอีกต่อไป แต่จะรวมถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่จะถูกถ่ายทอดผ่านระบบดิจิทัลเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์เสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบ
[4] Bite-sized Learning – การย่อยเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้แบบพอดีคำ
ยุคหลังโควิด-19 พบว่า ผู้เรียนมีอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัลมากขึ้น สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) พบว่า ผู้เรียนมากกว่าร้อยละ 80 มีสมาร์ทโฟน แม้ว่าจะเป็นเด็กในกลุ่มที่ยากจนที่สุด และมากกว่าร้อยละ 78 สามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น การออกแบบเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ในอนาคต อาจมุ่งเน้นไปในรูปแบบของ Mobile First เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้นเอง


Bite-sized Learning หรือ Micro Learning คือ การแบ่งย่อยเนื้อหาบทเรียนออกเป็นส่วน ๆ ให้มีขนาดเล็กเพื่อให้ผู้เรียนสามารถรับข้อมูลขนาดกำลังพอดีผ่านสื่อการเรียนรู้ เช่น บทความสั้น อินโฟกราฟฟิก วิดีโอสั้น พ็อตแคส หรือแฟรชการ์ด โดยผู้เรียนอาจใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5 – 10 นาที เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งการแบ่งย่อยบทเรียนทีละส่วนเช่นนี้ เหมาะกับการเรียนรู้ผ่านหน้าจอที่มีขนาดเล็กของสมาร์ทโฟนและช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเรียนรู้เนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าการถ่ายทอดบทเรียนเป็นชั่วโมงซึ่งอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการใช้สายตาและการใช้สมาธิต่อเนื่องเป็นเวลานาน
[5] Gamification – เปลี่ยนผู้เรียนเป็นผู้เล่นเพื่อสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
การใช้เกมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้อาจไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่มันจะยังคงเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องเพราะวิธีจัดการเรียนการสอนโดยใช้เกมเป็นสื่อกลางได้พิสูจน์แล้วถึงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม โดยในปี 2023 คาดว่า วิธีการเรียนรู้ที่อาศัยเกมเป็นสื่อกลางจะเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 32% ไม่เพียงแต่ในภาคการศึกษาเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการนำเกมมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาความรู้และฝึกทักษะของพนักงานตามบริษัทด้วย

การออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้แบบ Eductainment โดยใช้หลักของ Gamification ผู้สอนอาจเริ่มต้นด้วยการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกเสมือนกับว่ากำลังอยู่ในเกม RPG และเลือกเทคโนโลยีหรือเครื่องมือต่างๆ มาใช้เพื่อการนำเสนอเรื่องราว (Story) เป้าหมาย (Goal) และภารกิจ (Quest) ที่ผู้เรียนจะต้องทำ โดยเมื่อผู้เรียนปฏิบัติภารกิจต่างๆได้สำเร็จ ก็อาจมีระบบการสะสมแต้ม (Point) ค่าประสบการณ์ (Level) หรือการเก็บรวบรวมสิ่งของ (Items) ต่างๆ ที่จะได้รับเพื่อเป็นรางวัล (Reward) และนอกจากนี้ยังอาจมีการเสริมแรงเพิ่มเติมด้วยการมอบป้ายความสำเร็จ (Badge) และการจัดตารางอันดับ (Leaderboard) ได้อีกด้วย
บทสรุป
ในปี 2023 ครูจะต้องพัฒนาทักษะในการสร้างบทเรียนและปรับวิธีการสอนโดยใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรดิจิทัลเพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้ตามศักยภาพของตนเองเป็นรายบุคคล โดยจะต้องสามารถผสมผสานกิจกรรมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และมีคุณภาพให้กับผู้เรียน ดังนั้น เพื่อยกระดับให้ครูไทยในศตวรรษที่ 21 มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และสอดคล้องกับเทรดในการจัดการศึกษาในอนาคต ครูควรได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะ (Up-Skills) ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- ทักษะในการออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Hybrid / Blended Learning)
- ทักษะในการใช้ LMS เพื่อสร้างห้องเรียนแบบเสมือน (Virtual classroom)
- ทักษะในการออกแบบและสร้างสื่อไมโครเลิร์นนิ่งเพื่อการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์แบบพกพา
- ทักษะในการสร้างและประยุกต์ใช้ VR และ AR เพื่อการเรียนรู้ในโลกเสมือน
- ทักษะในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ด้วยกลไกของเกม (Gamification)
- ทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง (Learning analytics)
References…
[1] The Future Of Learning: Educational Technology Trends To Watch In 2023
[2] 50 Online Education Statistics: 2023 Data on Higher Learning & Corporate Training
[3] 54 Gamification Statistics You Must Know: 2023